นักทฤษฎีการแปล Lawrence Venuti ได้เสนอว่าการแปลทั้งมวลแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ foreignization (กลยุทธ์การแปลแบบรักษาความแปลกต่าง) และ domestication (กลยุทธ์การแปลแบบทำให้กลมกลืน) ดังจะอธิบายดังต่อไปนี้
1. Foreignization หรือกลยุทธ์การแปลแบบรักษาความแปลกต่าง
กลยุทธ์รักษาความแปลกต่างถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศเยอรมนีในยุคคลาสสิกและโรแมนติก ผู้พัฒนาแนวคิดนี้คือนักปรัชญาและนักเทววิทยาที่ชื่อ Friedrich Schleiermacher เขาเชื่อว่ากลวิธีการแปลมีเพียงสองประเภทเท่านั้น อย่างแรกคือการที่ผู้แปลไม่สนใจนักเขียนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และนำผู้อ่านเข้ามาหาตัวตนของผู้แปล อย่างที่สองผู้แปลต้องไม่สนใจผู้อ่านให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และนำผู้เขียนเข้ามาหาตัวตนของผู้แปล
Schleiermacher มองว่าการแปลส่วนใหญ่เป็นกลยุทธ์แบบทำให้กลมกลืนซึ่งเป็นการลดชาติพันธุ์นิยมของต้นฉบับที่มาจากต่างประเทศ แต่สิ่งที่ Schleiermacher นิยมมากกว่าคือกลยุทธ์แบบรักษาความแปลกต่าง ในกรณีของ Schleiermacher นี้เป็นการถอยห่างออกจากความคิดเรื่องชาติพันธุ์มาสู่ความแตกต่างทางภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมของตัวบทต่างประเทศ เป็นการส่งผู้อ่านไปยังต่างประเทศ
นักทฤษฎีชาวฝรั่งเศส Antoine Berman มองว่ากลยุทธ์นี้เป็นจรรยาบรรณของการแปลเพราะเป็นการทำให้ตัวบทที่แปลแล้วไม่มีการสูญหายของวัฒนธรรมต้นทาง และในทางตรงกันข้ามยังแสดงตัวตนทางวัฒนธรรมของภาษาต้นทาง กลยุทธ์การแปลลักษณะนี้นอกจากจะทำให้เกิดการเข้าใจตัวบทและวัฒนธรรมจากต่างประเทศแล้ว ยังอาจตอบสนองนโยบายทางวัฒนธรรมและการเมืองของประเทศผู้แปลอีกด้วย
Schleiermacher มองว่ากลยุทธ์นี้เป็นนโยบายสำคัญของขบวนการชาตินิยมปรัสเซียในช่วงสงครามนโปเลียน เขามองว่าจะเป็นการส่งเสริมเพิ่มพูนศัพท์ในภาษาเยอรมันหากมีการพัฒนาแนวคิดทางวรรณคดีชั้นสูงที่ปลอดอิทธิพลฝรั่งเศส ซึ่งเป็นชาติที่ครอบงำวัฒนธรรมเยอรมันอยู่ ในตอนนั้น
Venuti ยกตัวอย่างการแปลแนวนี้ว่า ผู้แปลอาจเลือกใช้คำล้าสมัยแทนที่จะใช้คำที่ผู้อ่านในสมัยนั้นคุ้นเคย เพื่อเป็นการนำผู้อ่านไปสู่วัฒนธรรมของภาษาต้นฉบับ หรืออาจเลือกใช้คำแบบบริทิชนิยม (Britishisms) ผสมกับคำอเมริกันร่วมสมัยก็เป็นได้ กลยุทธ์แนวนี้เป็นการทำให้ผู้อ่านทราบแต่ต้นเรื่องว่าผู้แปลมีวัตถุประสงค์ในการแปลไปในแนวทางใด
2. Domestication หรือกลยุทธ์การแปลแบบทำให้กลมกลืน
กลยุทธ์ประเภทนี้เกิดขึ้นในช่วงอาณาจักรโรมโบราณเป็นอย่างช้าสุด แนวคิดหลักของกระบวนการดังกล่าว คือการแปลเป็นรูปแบบหนึ่งของการเอาชนะ ดังจะเห็นได้จากการที่กวีชาวลาติน เช่น Horace และ Propertius ได้แปลตัวบทภาษากรีกเป็นฉบับแปลแบบโรมันโดยที่ไม่เก็บสิ่งหรือชื่อที่เป็นส่วนตัวไว้ รวมทั้งสิ่งใดก็ตามที่ถือว่าเป็นประเพณี ดังนั้นนักแปลชาวลาตินจึงไม่เพียงแต่ลบสิ่งบ่งชี้ทางวัฒนธรรมออกไปเท่านั้น แต่ยังพูดถึงวัฒนธรรมโรมันและเปลี่ยนชื่อเทพเจ้าของกรีกเป็นชื่อตนเองอีกด้วย
กลยุทธ์การแปลประเภทนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวทางการแปลแบบดั้งเดิมของประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสมัยใหม่ตอนต้น มีหลักฐานบ่งชี้ว่าการแปลแนวนี้แสดงให้เห็นถึงการยึดติดกับวัฒนธรรมท้องถิ่นตั้งแต่การเลือกต้นฉบับมาแปลรวมถึงการพัฒนาวิธีแปล นักแปลชั้นนำชาวฝรั่งเศส Nocolas Perrot D’Ablancourt ได้กล่าวว่าวัตถุประสงค์การแปลแนวนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการลบหลู่ความอ่อนโยนประณีตของภาษาฝรั่งเศส รวมถึงความถูกต้องในเชิงเหตุผลด้วย
นักแปลชาวอังกฤษที่ได้รับอิทธิพลจากนักแปลชาวฝรั่งเศสผู้นี้ คือ Sir John Denham เขาได้แปลหนังสือเล่มที่สองของมหากาพย์ Aeneid และมองว่าหาก Virgil ต้องพูดภาษาอังกฤษ จะเป็นการเหมาะสมมากหากเขาไม่พูดแต่เพียงในฐานะคนของประเทศนี้ แต่ยังรวมถึงคนในยุคเดียวกับเขาด้วย จะเห็นได้ว่าทั้ง D’Ablancourt และ Denham ไม่เพียงแต่ปรับตัวบทให้ทันสมัยขึ้นเท่านั้น แต่ทั้งสองยังรักษามาตรฐานทางวรรณกรรมของชนชั้นสูงในสังคมและสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้แก่ประเทศของตนโดยอาศัยพื้นฐานจากวัฒนธรรมโบราณของประเทศอื่นๆ อีกด้วย
บางครั้งกลยุทธ์การแปลนี้อาจมีนัยยะด้านเศรษฐกิจอยู่ด้วย แต่นัยยะดังกล่าวมักจะมาพร้อมกับพัฒนาการทางวัฒนธรรมและการเมืองของยุคปัจจุบันเสมอ ความสำเร็จอย่างมโหฬารของการแปลนิยาย The Name of the Rose ของนักเขียนชาวอิตาเลียน Umberto Eco เกิดจากการที่ผู้อ่านชาวอเมริกันซึ่งมีนิสัยชื่นชอบนิยายรักอิงประวัติศาสตร์และแนวลึกลับฆาตกรรมคุ้นเคยกับลีลาการเล่าเรื่องของ Eco นอกจากนี้ในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 นักแต่งนวนิยายชาวอิตาเลียนนามว่า Giovanni Guareschi ยังได้กลายเป็นนักเขียนที่ขายหนังสือที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างมหาศาล สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเพราะผู้อ่านชาวอเมริกันซึ่งกำลังอยู่ในสมัยซึมซับนโยบายต่อต้านโซเวียตในช่วงสงครามเย็นอย่างเข้มข้น ล้วนแล้วแต่ชื่นชอบการล้อเลียนเสียดสีสังคมชีวิตชนบทของอิตาลีในนิยายเรื่องนี้
การแปลลักษณะนี้มักมีจุดประสงค์เฉพาะด้าน ผู้นำกลยุทธ์นี้ไปใช้มักเป็น นักจักรวรรดินิยม ผู้เผยแผ่คำสอนพระเยซู ผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพ ตัวอย่างเช่น Sir William Jones ผู้บริหารของบริษัทอินเดียตะวันออกได้แปลหนังสือ The Institutes of Hindu Law เป็นภาษาอังกฤษเพื่อส่งเสริมระบบจักรวรรดินิยมอังกฤษและทำลายภาพลักษณ์ของชาวฮินดู การแปลลักษณะนี้ยังมีส่วนช่วยอย่างยิ่งต่องานทางศาสนาของ Eugene Nida ผู้เป็นที่ปรึกษาด้านการแปลคัมภีร์ไบเบิ้ลขององค์กรหลายแห่ง เนื่องจาก Nida ได้รับหน้าที่ดูแลงานแปลจำนวนมากซึ่งทำให้ผู้รับสารได้เข้าใจสิ่งที่คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมตน ตัวอย่างสุดท้ายได้แก่งานแปลภาษาอังกฤษที่เรียกกันว่า Standard Edition (1953-1974) ของ Sigmund Freud ทำให้ทฤษฎีของ Freud กลมกลืนไปกับทฤษฎีที่เชื่อว่าความรู้ของมนุษย์เกิดจากการได้รับโดยตรงมากกว่าการเทียบเคียง ซึ่งเป็นทฤษฎีที่กำลังครอบงำวิชามนุษยศาสตร์ในวัฒนธรรมแอลโกลอเมริกันอยู่ในขณะนั้น และสนับสนุนให้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ในวงการแพทย์และจิตวิทยาเชิงวิชาการของ Freud ได้รับการยอมรับอีกด้วย
..
วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)